ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี นำคณะผู้บริหารและบุคลากร เข้าเฝ้าทูลถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวนศาสตร์ แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเป็นแบบอย่างทางธรรมะด้านวิชาวนศาสตร์ ผ่านโครงการต่าง ๆ นานัปการ ที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพ และความเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้งด้านการพัฒนาป่าไม้อย่างยั่งยืน
พระองค์โปรดประทานพระดำริ และทรงรับโครงการ"คืนธรรมชาติสู่ธรรม"(Green Buddhism for Sustainable Development)ไว้ในพระอุปถัมภ์ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ และใช้กระบวนการของธรรมชาติที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับป่าไม้ในการสั่งสอนพุทธศาสนิกชน แสดงให้เห็นว่าพระองค์คือ"ครูป่าไม้" ผู้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการอนุรักษ์ (Conservation)การฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ (Forest restoration) ตามหลักวิชาวนวัฒนวิทยา(Silviculture) ทั้งยังให้ความสำคัญกับ"การพัฒนาที่ยั่งยืน" (Sustainable development) ซึ่งเป็นแนวคิดทางด้านวนศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง
อีกทั้งยังทรงให้ความสำคัญกับภูมิสังคมของท้องถิ่น ให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการบูรณปฏิสังขรณ์ และการดูแลรักษาต้นไม้ในพื้นที่วัดตามแนวทางการจัดการภูมิทัศน์ป่าไม้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Forest Landscape Design)สอดคล้องกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องการปลูกป่าในใจคน
นอกจากนี้พระองค์ทรงเป็นประธานอุปถัมภ์ "โครงการรางวัลธรรมจักรสีเขียว" เพื่อส่งเสริมให้พระสงฆ์และชุมชนโดยรอบวัดได้ช่วยงานด้านป่าไม้ในการอนุรักษ์ป่า ปลูกป่า ป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ช่วยดูแล และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศ พร้อมกับสร้างจิตสำนึกและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติให้แก่วัดและชุมชนตลอดจนประชาชนทั่วไป
สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงขอประทานพระวโรกาสทูลถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วนศาสตร์)เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณในวงวิชาการ ให้ปรากฎขจรขจาย และเป็นทิฏฐานุคติแก่อนุชนตราบจิรัฐิติกาล