ม.เกษตร คิดค้นเตาอบไม้แบบประหยัด ทำเองได้ ใช้เงินทุนต่ำ อบได้สารพัด
 

ปัญหาในการใช้ไม้ของประเทศไทยเรา เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่สาเหตุที่สำคัญก็คือ เรื่องเกี่ยวกับความชื้นของเนื้อไม้ ซึ่งความชื้นของเนื้อไม้ถ้ามีมากเกินไป เมื่อนำไม้ไปใช้งานก็จะเกิดการหดตัว แต่ถ้าความชื้นของเนื้อไม้มีน้อยเกินไป เมื่อนำไม้ไปใช้งานก็จะเกิดการขยายตัว นี่คือปัญหาที่สำคัญในการใช้ประโยชน์ไม้

ผศ.ทรงกลด จารุสมบัติ หัวหน้าภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ และทีมนักวิจัยคือ ผศ.อำไพ เปี่ยมอรุณและผศ.ดร.ธีระ วีณิน ได้ร่วมกันคิดค้นเตาอบไม้แบบประหยัดโดยอาศัยใช้การ แลกเปลี่ยนความร้อนโดยตรงเพื่อนำไม้ไปใช้ประโยชน์โดยผ่านการอบไม้ เพื่อให้ไม้มีความชื้นที่เหมาะสมซึ่งขึ้นอยู่กับสถานที่นำไม้ไปใช้งาน ซึ่งจะทำให้ไม้ไม่เกิดการยืดและหดตัว สำหรับไม้ในประเทศไทย มีค่าความชื้นสมดุลอยู่ที่ 10? 2% คือต้องอบไม้ให้มีความชื้นเท่ากับความชื้นสมดุลก็จะทำให้ไม้ไม่ยืดและหดตัว ประกอบกับสภาพในปัจจุบันการอบไม้จะมีเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมไม้ขนาดใหญ่ เนื่องจากเตาอบไม้มีการลงทุนที่สูง ซึ่งต้องใช้ Boiler เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน ทำให้คณาจารย์ในภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันคิดค้นเตาอบไม้แบบประหยัดขึ้นมาใช้เองเป็นเตาอบไม้ขนาดเล็ก

เตาอบไม้แบบประหยัดนี้สามารถอบไม้ให้มีความชื้นที่เหมาะสมได้เทียบเท่าเตาอบไม้แบบที่ใช้ Boiler เช่นในการอบไม้ยางพารา ความหนา 1 นิ้ว เตาอบไม้แบบใช้ Boiler ใช้เวลา 6-7 วัน เพื่อให้ไม้มีความชื้น 10? 2% เตาอบไม้แบบประหยัดก็ใช้ เวลา 6-7 วัน เช่นเดียวกัน แต่เตาอบไม้แบบประหยัดมีการลงทุนที่ต่ำกว่า คือลงทุนประมาณเตาละ 250,000 บาท อบไม้ได้ 600 – 700 ลบ.ฟุต ซึ่งเมื่อเทียบกับเตาอบไม้แบบ Boiler อย่างเดียวก็หลายล้านบาทแล้ว รวมทั้งเชื้อเพลิงที่ใช้ก็น้อยกว่าเตาอบไม้ที่ใช้ Boiler ซึ่งมีผู้ประกอบการไม้หลายรายนำไปใช้แล้ว เตาอบแบบนี้ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถมีเตาอบไม้เองได้ ทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตได้ และส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถใช้ไม้ที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ไม่เกิดปัญหาในการยืดและหดตัวของไม้


เตาอบชนิดนี้นอกจากอบไม้ได้แล้ว ยังสามารถอบผลไม้ หรือสิ่งต่างๆ ที่ต้องการให้แห้งได้ และชาวบ้านสามารถสร้างได้เองโดยมีการแนะนำเทคนิคเพิ่มเติม สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ผศ.ทรงกลด จารุสมบัติ หัวหน้าภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 0-2942-8109 โทรสาร 0-2942-8371 หรือที่ e-mail : fforsoj@ku.ac.th
   
HOME