สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ฯ ทรงดนตรี ในวันที่ระลึก “วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด”
วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2552 เวลา 16.00 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จทรงดนตรี ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยมี ศ.ดร.กำพล อดุลวิทย์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดี คณะผู้บริหารและนิสิตเฝ้ารับเสด็จ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ในวันที่ระลึก “วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้นและทรงดนตรี ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ บริเวณหอประชุม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2506
ในโอกาสนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทอดพระเนตรนิทรรศการ “สืบสานวันทรงดนตรี” ทอดพระเนตรภาพยนตร์ส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น และ ทรงดนตรี
จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเครื่องดนตรีจีน (กู่เจิง) ร่วมกับวงดุริยางค์ราชนาวี จำนวน 2 เพลงคือ ระบำเผ่าอี้ : บรรยายถึงชายหนุ่มเผ่าอี้ ซึ่งนิยมเป่าแคนไม้ไผ่ ชักชวนกันเข้าไปชุมนุมในป่าลึกเพื่อเต้นระบำรอบกองไฟกับกลุ่มหญิงสาวคนรัก และจบลงด้วยการจับคู่กลับบ้าน บทเพลงแบ่งเป็น 3 ท่อน ท่อนแรกเข้า ท่อนที่สองจังหวะเร็ว และท่อนสุดท้ายบรรเลงท่วงทำนองอ่อนหวาน นุ่มนวล อันหมายถึงหญิงสาว แทรกด้วยท่วงทำนองกระฉับกระเฉง อันหมายถึงชายหนุ่มทั้งหมด อยู่ในบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความรักหวานซึ้ง และเพลงเมฆตามพระจันทร์ ซึ่งประพันธ์ทำนองเพลงโดย นางหลี่ หยาง นายหลี่ฮุย : บทเพลงอันเรียบง่ายแต่งดงาม เป็นผลงานการประพันธ์ของ นายเหริน กวง เมื่อปี ค.ศ. 1935 และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงสดับท่วงทำนองอันไพเราะนี้ ก็ทรงรู้สึกประทับพระทัยอย่างลึกซึ้ง พระองค์รับสั่งว่า “ลักษณะของดนตรีเพลงเมฆตามพระจันทร์ สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้บางอย่างของข้าพเจ้าได้” พระองค์จึงได้ทรงนำความเข้าใจที่พระองค์ทรงมีต่อดนตรีมาหลอมรวมเข้าไว้ในบทเพลงนี้ นี่จึงเป็นคำอรรถาธิบายพิเศษของวัฒนธรรมจีนและไทย และเป็นสายเลือดใหม่ของดนตรี ซึ่งถือเป็นภาษาของโลก โดยมีนาวาตรี ประกอบ มกรพงษ์ หัวหน้าวง และนาวาเอกณรงค์ แสงบุศย์ ผู้อำนวยเพลง จากนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานสัมภาษณ์ และทรงฟังการบรรเลงเพลงจากวงดนตรีสากล เคยู แบนด์จำนวน 3 เพลงได้แก่ เพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์ เพลงสดุดีพระเกียรติ เพลงสดุดี ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี การบรรเลงเพลงจากวงดนตรีดุริยางค์เครื่องเป่าลมแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วงเคยู วินซิมโฟนี) จำนวน 2 เพลง ได้แก่ เพลง Deep Impresstion และเพลงเมดเล่ย์เกษตรศาสตร์ (รำวงเกษตร , รำวงนนทรี) นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างอเนกอนันต์และพระกรุณาธิคุณนี้จะตราตรึงอยู่ในใจของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และพสกนิกรชาวไทยตลอดไป
ดูภาพทั้งหมด
[Back]