โครงการ “สืบสาน วันสืบ นาคะเสถียร”
 
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโครงการ “สืบสาน วันสืบ นาคะเสถียร” ขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2552 ณ อาคารศูนย์เรียนรวม 2 , 3 และ ด้านทิศใต้ของอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ และได้กำหนดให้วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัยเพื่อรำลึกถึงการจากไปของคุณสืบ นาคะเสถียร ผู้เสียสละชีวิตเพื่อสร้างบรรทัดฐานการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนให้กับสังคมไทย ซึ่งจะจัดกิจกรรมยิ่งใหญ่เพื่อเผยแพร่ประวัติ ผลงาน และความเสียสละของสืบ นาคะเสถียร รวมถึงเสริมสร้างให้เยาวชนและประชาชนได้ตระหนักรู้ที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 กันยายน 2552 รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 60 รูป เนื่องในวันรำลึกการจากไปเป็นปีที่ 19 ของคุณสืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าคนสำคัญของไทย ต่อจากนั้นเป็นพิธีวางพวงมาลา ณ หน้ารูปปั้นคุณสืบ นาคะเสถียร ซึ่งมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ องค์กรภาครัฐและเอกชน ร่วมวางพวงมาลา และในโอกาสนี้ รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวนำประกาศสัตยาบรรณพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และ นิสิต ว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบด้านการอนุรักษ์ และพร้อมจะนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปสู่งานด้านการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ร่วมกันลดหรือไม่ใช้พลังงานที่สร้างมลภาวะ มุ่งเน้นให้มีพื้นที่สีเขียวในทุกหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สืบ นาคะเสถียร ได้เข้าศึกษาในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (เกษตรศาสตร์รุ่นที่ 29 และ วนศาสตร์รุ่นที่ 35) เมื่อปี พ.ศ. 2511 และจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2514 และต่อมาได้ทำงานที่ส่วนสาธารณะของการเคหะแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2517 ต่อจากนั้นได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒน์วิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518 และได้เริ่มชีวิตข้าราชการ ตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาจากบริติชเคาน์ซิลเรียนต่อในระดับปริญญาโทอีกครั้ง สาขาอนุรักษ์วิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนในอังกฤษและจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2524 สืบได้ผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าออกมามากมาย ตั้งแต่การสำรวจติดตามชนิดและพฤติกรรมการทำรังของนก สำรวจแหล่งอาศัยของกวางผา ค้นหาและศึกษาพฤติกรรมของเลียงผา มาจนถึงการสำรวจศึกษาสภาพทางนิเวศของป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร และได้เป็นอาจารย์พิเศษ ประจำภาคชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 ณ บ้านพักในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี โดยได้สั่งเสียลูกน้องคนสนิทและเขียนจดหมายสั่งเสีย 6 ฉบับ ชำระสะสางภาระรับผิดชอบ และทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้าง รวมถึงมอบหมาย เครื่องใช้ และอุปกรณ์ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่า ให้สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ปาห้วยขาแข้ง ท้องที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี จากนั้นได้ตั้งศาลเพื่อแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเจ้าหน้าที่ซึ่งพลีชีพรักษาป่าห้วยขาแข้ง แล้วสวดมนต์ไหว้พระจนจิตใจสงบ เสียงปืนดังขึ้นนัดหนึ่งในราวป่าลึกที่ห้วยขาแข้ง อันเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานนักอนุรักษ์ไทย “สืบ นาคะเสถียร ผู้ที่รักป่าไม้ สัตว์ป่าและธรรมชาติ ด้วยกายและใจ"

ด้วยความเสียสละเพื่อให้เกิดสำนึกตระหนักในสังคมส่วนรวมของคุณสืบ นาคะเสถียร เป็นจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลให้กับนักอนุรักษ์รุ่นหลังมากมาย รวมทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยเฉพาะนิสิตคณะวนศาสตร์ รุ่นน้องของคุณสืบ นาคะเสถียร ดังนั้นการจัดงาน “สืบสาน วันสืบ นาคะเสถียร” ในครั้งนี้ จึงได้รวบรวมกิจกรรมหลากหลายประเภทเพื่อมุ่งสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ให้กับเยาวชนและประชาชน ทั้งในส่วนของการแสดงนิทรรศการเส้นทางอนุรักษ์บนร่างสืบ ครั้งที่ 16 , ถนนายอนุรักษ์ , การประกวดภาพวาดและภาพถ่าย , คอนเสิร์ตการกุศลเพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งมีศิลปินจากหลากหลายค่ายมาร่วมแสดง อาทิ ชมรมขับร้องและประสานเสียง เค.ยู. คอรัส วง KU Wind Symphony ศิลปิน สายัญ น้ำทิพย์ (โดยวงดนตรีของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าฯ สลักพระ) วงคนด่านเกวียน นำโดยสีเผือกคนด่านเกวียน วงคาราวาน นำโดยน้าหงา คาราวาน ศิลปิน Indy และ การแสดงดนตรีของชมรมนนทรีทักษิณ และยังมีการเปิดตัวโครงการ KU Bike (เส้นทางจักรยานสีขาว) ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้นิสิต อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยหันมาใช้จักรยานในการเดินทางภายในมหาวิทยาลัยแทนการใช้รถยนต์ เพื่อลดมลภาวะที่เกิดจากก๊าซคาร์บอนไซด์ออกไซด์จากไอเสียรถยนต์ โดยพิธีเปิดโครงการฯ รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต และหน่วยงานย่านพหลโยธินต่าง ๆ จำนวนประมาณ 200 คน ร่วมกันขี่จักรยาน เริ่มจากบริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผ่านเส้นทางถนนชูชาติ กำภู จนมาสิ้นสุดที่อาคารสารนิเทศ 50 ปี

 
 
ดูภาพทั้งหมด
[Back]