นักวิจัย มก. ชี้ผลวิจัย กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งภาคตะวันออกของไทย เพื่อการวางแผนพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ยั่งยืน
 

      นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยผลการวิจัยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งบริเวณภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยวิเคราะห์หา ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างปัจจัยต่างๆ ร่วมกับการใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ทำให้ทราบทั้งความรุนแรงและจำนวนพื้นที่ เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนการใช้พื้นที่เพื่อพัฒนาระบบเกษตรเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
     ปัจจุบันภาคตะวันออกของประเทศไทยเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง โดยนับวันจะทวีความรุนแรงและขยายขอบเขตมากขึ้น ทั้งที่มีปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีค่อนข้างสูงซึ่งอยู่ระหว่าง 2,500-4,000 มิลลิเมตรต่อปี โดยภัยแล้งส่วนใหญ่เป็นภัยแล้งที่เกิดจากขาดฝนหรือ ฝนแล้งเป็นเวลานานในช่วงเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน และเกิดฝนทิ้งช่วงในช่วงฤดูฝน คือเดือนมิถุนายนต่อเนื่องเดือนกรกฎาคม ซึ่งสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2546 มีพื้นที่เกษตรกรรมเสียหาย 124,188 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 11,455,890 บาท (กรมส่งเสริมการเกษตร,2547) และลดคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งหมายรวมไปถึงความมั่นคงทางสังคมและประเทศชาติด้วย เนื่องจากงบประมาณสำหรับใช้ในการพัฒนาประเทศ ต้องถูกนำมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งเหล่านี้
     นอกจากนี้ทางศูนย์วิจัยป่าไม้ ยังระบุว่า ลุ่มน้ำมูล-ชี มีความเสี่ยงต่อภัยแล้ง และแล้งจัดถึงร้อยละ 80 ของพื้นที่ เนื่องจากมีการกระจายของฝนไม่สม่ำเสมอ และมีระดับดัชนีฝนแล้งอยู่ในระดับแล้งจัด สภาพพื้นดินมีเนื้อดินเป็นดินทราย มีต้นกำเนิดมาจากหินทรายทำให้ความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ เกิดการสูญเสียและพังทลายของดินได้ง่าย ประกอบกับบางพื้นที่มีปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็ม ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช และปริมาณน้ำใต้ดินที่สามารถนำมาใช้อยู่ในเกณฑ์ต่ำ สภาพการใช้ที่ดินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาและพื้นที่การเกษตรอื่นๆ ที่อาศัยน้ำฝนเกือบทั้งหมด ทำให้พื้นที่ดังกล่าวขาดแคลนน้ำทั้งเพื่อการเกษตรกรรม และอุปโภค – บริโภค
     ดังนั้น รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมโชค นักธรณีเทคโนโลยี และนางพูลศิริ ชูชีพ นักวิจัย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการศึกษาการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งบริเวณภาคตะวันออกของประเทศไทย เพื่อกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งภาคตะวันออก โดยวิเคราะห์จากปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดภัยแล้ง 6 ปัจจัย คือ ดัชนีฝนแล้ง การอุ้มน้ำของดิน พื้นที่ชลประทาน ปริมาณน้ำใต้ดิน จำนวนวันที่ฝนตกรายปีเฉลี่ย และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้วยระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อคำนวณระดับความเสี่ยงภัยจากระดับความรุนรงของปัจจัยและค่าถ่วงน้ำหนัก จะเห็นว่ามีพื้นที่ที่อยู่ในระดับเสี่ยงภัยแล้งระดับสูงเพียงร้อยละ 16.36 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดฉะเชิงเทราในส่วนที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มักจะใช้ในการปลูกพืชไร่ที่ต้องการน้ำน้อย นอกจากนี้จะเห็นว่าพื้นที่ที่ไม่เสี่ยงภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในระดับต่ำรวมมีพื้นที่ร้อยละ 53.76 แสดงว่าพื้นที่ในภาคตะวันออกครึ่งหนึ่งไม่ค่อยมีปัญหาทางด้านภัยแล้งและอีกส่วนหนึ่งจะพบปัญหาภัยแล้งในช่วงสั้นๆ คือช่วงเดือนกรกฎาคม แต่นำความเสียหายได้มากเนื่องจากพืชเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ไม่ทนต่อภัยแล้ง เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง
     จากผลการวิจัยดังกล่าว ทำให้สามารถกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในภาคตะวันออกของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากข้อมูลที่ได้นี้จะทำให้ทราบทั้งความรุนแรงและจำนวนพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนการใช้พื้นที่เพื่อพัฒนาระบบเกษตรเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

     ผู้สนใจสามารถเข้าชมและฟังการนำเสนอผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากนักวิจัยได้ ในงานการประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ 43 ซึ่งจะมีการเสนอผลงานการวิจัยดังกล่าว ในภาคโปสเตอร์ สาขาการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ในระหว่างวันที่ 1 - 4 กุมภาพันธ์ 2548 ณ บริเวณห้องโถงชั้นล่าง อาคารศูนย์เรียนรวม 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

[Back]