ปัจจุบันภัยพิบัติจากธรรมชาติได้ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากต่อมวลมนุษยชาติ นักวิจัยได้พยายาม
คิดค้นอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นสัญญาณในการเตือนภัยล่วงหน้าโดยเฉพาะการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง
รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมโชค อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตรและทีมงานวิจัยได้ทำการศึกษาคิดค้นแบบจำลองการคาดคะเนปริมาณน้ำฝนขึ้น โดยใช้ข้อมูล
ระยะยาวของพฤติกรรมของสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาค สภาพภูมิประเทศ ปรากฎการณ์เอลลิโนและนานินา
ทำให้ได้แบบจำลองในการคาดคะเนปริมาณน้ำฝนที่ต่อเนื่องจากปริมาณน้ำฝนในฤดูกาลที่ผ่านมาหรือในปีที่
ผ่านมา โดยแบบจำลองนี้ใช้ศึกษาในกรณีที่มีเมฆฝนพัดผ่านเข้ามาดาวเทียม GMS 5 จะสามารถมองเห็นก้อน
เมฆที่มีระดับสูงต่ำต่างกัน ต่อจากนั้นโปรแกรมจะทำการแปรความหมายว่ามีอุณหภูมิยอดเมฆเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูล
นี้จะถูกส่งลงมายังพื้นดินทุกชั่วโมง ซึ่งหากมีถังวัดน้ำฝนอยู่ใต้ก้อนเมฆก้อนนั้นพอดีและจังหวะนั้นสามารถวัด
อุณหภูมิยอดเมฆได้จะสามารถบอกได้ว่าฝนที่ตกลงมาจะมีปริมาณน้ำฝนเท่าไหร่ ซึ่งหากเมฆมีปริมาณน้ำฝน
มากกว่า 25 มิล แบบจำลองนี้จะมีความถูกต้องแม่นยำถึงกว่า 90%
หลักของแบบจำลองการคาดคะเนปริมาณน้ำฝน คือ การป้องกันการเกิดอุทกภัยและการเกิดแผ่นดินถล่ม
แบบจำลองดังกล่าวนำมาใช้ในระดับภาค แบ่งเป็น 8 ภาค ประกอบด้วยภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางและภาคตะวันตก ภาคตะวันออก
ภาคใต้ฝั่งตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยกำหนดฤดูกาลที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาคออก
เป็น 5 ฤดู ประกอบด้วย ฤดูมรสุมจากลมตะวันออกเฉียงเหนือ (พฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์) ฤดูปลายหนาวต้นร้อน
(มีนาคมถึงเมษายน) ฤดูต้นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (พฤษภาคมถึงมิถุนายน) ฤดูฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
(กรกฎาคมถึงกันยายน) และฤดูปลายฝนต้นหนาว (ตุลาคม)
รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่านอกจากการคาดคะเนปริมาณน้ำฝนแล้ว การจัดการพื้นที่เพื่อควบคุม
น้ำก็มีความสำคัญ กล่าวคือ การจัดการพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในดินหรือสระน้ำ หรือในพื้นที่ชุ่มน้ำของบริเวณพื้นที่
ลาดเอียงระบายน้ำลงสู่ลำธารที่ไม่มีระบบฝายหรืออ่างเก็บน้ำ จะทำให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งอย่างเพียงพอและยังช่วย
บรรเทาอุทกภัยในฤดูฝน พื้นที่ลาดเอียงดังกล่าวมักเป็นพื้นที่บริเวณปลายเนินและพื้นที่ลอนลาด ซึ่งมีอยู่ประมาณ
ร้อยละ 80 ของพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง การทำฝายต้นน้ำทั้งในส่วนที่อยู่เหนือลำธารและส่วนที่อยู่ใต้ท้อง
ลำธาร ทำให้สามารถเก็บรักษาความชื้นในดินบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำได้มาก
การขุดสระน้ำและการทำพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นทางเลือกสำคัญในการกักเก็บน้ำและป้องกันการไหลหลาก
ทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ การขุดสระน้ำจะดำเนินการหลังพื้นที่ปลายเนินเขา ที่มีตะกอนสะสมกันเพื่อให้พื้นที่ดัง
กล่าวเป็นที่ชื้นแฉะตลอดเวลา และระบายน้ำซับออกมาอย่างต่อเนื่องการขุดสระน้ำต้องขุดออกทั้งหมดแล้ว
นำดินไปกองฝากไว้ที่อื่นก่อนแล้วทำการบดอัดพื้นและคันดินทั้งหมดตามมาตรฐานการบดอัดดินและในการทำ
คันดินและถนน การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้น้ำในสระน้ำไม่รั่วซึม
นอกจากนี้การขุดสระน้ำบางตอนตื้นและบางตอนลึกมาก เพื่อประโยชน์ในการลดการระเหยน้ำและเพื่อ
การเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวคือสัตว์น้ำจะอยู่ในที่ลึกในช่วงเวลากลางวันเนื่องจากน้ำเย็นกว่าที่ตื้น และจะอยู่ในที่ตื้นใน
เวลากลางคืนเนื่องจากมีออกซิเจนมากกว่าที่ลึก
อนึ่งการขุดสระน้ำบริเวณปลายเนินเขาอย่างน้อยสองสระต่อเนื่องกัน เพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลบ่าลงมาจาก
เนินเขาในช่วงที่มีฝนตกหนัก โดยส่วนที่ล้นจากสระแรกและสระที่สองหรือสระที่สามจะปล่อยให้ไหลลงสู่ระบบน้ำ
ใต้ดิน นอกจากนี้การมีพื้นที่ชื้นแฉะและชุ่มน้ำเป็นบริเวณเล็กๆระหว่างปลายเนินถึงสระน้ำจะช่วยให้มีการพักตะกอน
และมีน้ำซึมซาบออกมาแหล่งน้ำตลอดเวลา ช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำหลากในฤดูฝน
จะเห็นได้ว่านักวิชาการได้ทำการศึกษาอย่างครบวงจรและเป็นรูปธรรมที่สามารถป้องกันและบรรเทา
อุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการดำเนินการแบบมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกพื้นที่
สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2942-8381