นพ. เกษม วัฒนชัย แนะ 6 ยุทธศาสตร์ยกเครื่องงานวิจัย
ย้ำ ! มหาวิทยาลัยต้องเป็นเจ้าภาพหลัก

 

     “หมอเกษม” องคมนตรี เผย 6 ยุทธศาสตร์หลักพัฒนานักวิจัย เพื่อนำพาประเทศไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ต้องเริ่มต้นที่นิสิตนักศึกษา ไปจนถึงบุคลากรในมหาวิทยาลัย โดยให้อธิการบดีเป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดทิศทาง สิ่งสำคัญคือ ต้องมีนโยบายชัดเจนที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
     นพ. เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวในการประชุมสัมมนาอาจารย์และบุคลากรสายวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่องเส้นทางสู่นักวิจัยมืออาชีพ ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุมจงรักษ์ ไกรนาม โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม โดยระบุว่า ถ้าประเทศไทยเราต้องการที่จะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ หรือ Knowledge society จะต้องศึกษาการเรียนรู้ภายใต้บริบทของสังคมไทยและสังคมโลกอยู่ตลอดเวลา และจะต้องยกเครื่องระบบการศึกษาให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆอยู่เสมอ ที่สำคัญคือ สถาบันการศึกษาต้องมุ่งเน้นเรื่องการวิจัยเป็นหลัก
     นพ. เกษม ยังได้แบ่งกลุ่มอาจารย์ในฐานะนักวิจัยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. อาจารย์ใหม่ที่ยังไม่เคยทำการวิจัยมาก่อน 2. อาจารย์ที่เคยมีประสบการณ์การวิจัยภายในประเทศ บุคคลทั้งสองกลุ่มนี้มหาวิทยาลัยจะต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนานักวิจัยเฉพาะกลุ่มแยกกันไป โดยจัดหาแหล่งทุนให้ทั้งในและนอกประเทศ และ 3. นักวิจัยที่มีผลงานวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งก็จะต้องรวมกลุ่มกันให้เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก
     สำหรับเจ้าหน้าที่ในฐานะนักวิจัยนั้น ควรจะต้องเน้นทักษะพื้นฐานในการทำวิจัย ให้ตระหนักรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ลงมือทำวิจัยในงานที่รับผิดชอบ เสนอผลงานวิจัยและขยายความรู้ความคิด และนำผลงานไปพัฒนานโยบาย/พัฒนาเชิงปฏิบัติ ซึ่งยุทธศาสตร์ในการพัฒนางานวิจัยนั้น ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก คือ
     ยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับและปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการบริหารจัดการงานวิจัย ซึ่งจะต้องมีแผนปฏิบัติคือ การยกระดับและปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานระดับมหาวิทยาลัย ระดับคณะ และหน่วยงานเทียบเท่าคณะ
     ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาความพร้อมของปัจจัยด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนงานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นระบบงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการงานวิจัยและเพื่อทำวิจัย โดยพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
     ยุทธศาสตร์ที่ 3 สนับสนุนให้อาจารย์ทุกคนทำวิจัย โดยมีแผนงานพัฒนาทักษะวิจัยสำหรับอาจารย์ที่ยังไม่เคยทำ การสนับสนุนอาจารย์ที่เคยทำวิจัยแล้ว เพื่อหาแหล่งทุนวิจัย โดยเฉพาะแหล่งทุนภายในประเทศ และสนับสนุนอาจารย์ที่พร้อม โดยขอแหล่งทุนวิจัยจากต่างประเทศ
     ยุทธศาสตร์ที่ 4 กำหนดให้นิสิตนักศึกษาทุกหลักสูตรทำการศึกษา/วิจัย โดยให้เป็นเงื่อนไขสำหรับการสำเร็จการศึกษา เพื่อหาข้อมูลและวิธีแก้ปัญหาวิชาที่ศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะเพื่อการศึกษา/วิจัย สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
     ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมให้ข้าราชการ/พนักงาน (ที่ไม่ใช่อาจารย์) ทำการศึกษา/วิจัย เพื่อพัฒนางาน โดยกำหนดให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานระดับคณะหรือเทียบเท่า มีการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบงานโครงสร้าง และนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการลดขั้นตอนและรายจ่าย โดยเน้นการพัฒนาทักษะเพื่อการวิจัย
     ยุทธศาสตร์ที่ 6 จะต้องมีกลไกความรับผิดชอบ และผู้รับผิดชอบ โดยให้อธิการบดีรับผิดชอบให้มีระบบบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัย เพื่อสั่งการ กำกับติดตาม และประเมิน ทั้งในระดับอธิการบดี คณบดี โดยที่จะต้องมีแผนการวิจัย และตั้งเป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย (Research University)ให้ได้โดยเร็ว ทั้งนี้ นพ.เกษม ย้ำว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ มหาวิทยาลัยต้องมีนโยบายชัดเจนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ

[Back]