เมธีส่งเสริมนวัตกรรม บทบาทของผู้รู้เพื่อขยายผลงานวิจัยสู่ธุรกิจฐานความรู้

 

     “เมธีส่งเสริมนวัตกรรม” (Innovation Ambassador) โครงการเพื่อที่มุ่งสร้างเครือข่ายของ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม หรือด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ภายใต้การดำเนินการของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) โดยสรรหาและคัดเลือกบุคลากรวิจัยและนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแต่งตั้งให้เป็นเมธีส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งมีภารกิจหลักในการให้คำปรึกษา แนะนำ การบริหารจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการ พร้อมทั้งประเมินศักยภาพทางด้านการตลาดและธุรกิจในกระบวนการพัฒนาโครงการนวัตกรรม
     รองศาสตราจารย์ ดร.อรอนงค์ นัยวิกุล จากภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็น “เมธีส่งเสริมนวัตกรรม” ประจำปี 2548 สาขาธุรกิจชีวภาพ (Bio Business) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเคมีธัญชาติ , การวิจัยและพัฒนาคาร์โบไฮเดรตในอาหาร , การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว , การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังและถั่ว ได้กล่าวถึงบทบาทของเมธีส่งเสริมนวัตกรรมว่า ในปัจจุบันนี้ผลงานวิจัยมีคุณประโยชน์มหาศาลต่อการพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้นการที่จะนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้นั้น จะต้องมีเครือข่าย การประสานงาน และการเชื่อมโยงองค์กรต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งทางด้านวิชาการ เทคโนโลยี การผลิต การเงิน การลงทุน และการจัดการ โดยอาศัยกลไกการสนับสนุนทางด้านวิชาการ การจัดการองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่งานนัวตกรรม ชักนำและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในเครือข่ายวิสาหกิจ เกิดการเชื่อมโยงงานวิจัยของภาครัฐได้อย่าง บูรณาการ โดยวัตถุประสงค์หลักของเมธีส่งเสริมนวัตกรรม คือ ให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีในกระบวนการพัฒนาโครงการนวัตกรรมให้กับภาคเอกชน , ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เกิดการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม , บูรณาการการวิจัยและพัฒนาของประเทศให้เกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและตอบสนองต่อภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม และเชื่อมโยงแนวทางการวิจัยและพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ
     และสิ่งสำคัญที่อยากฝากถึงเพื่อนนักวิจัย นักวิชาการ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานสร้างสรรค์ผลงานวิจัยใหม่ๆ คือ หมั่นฝึกตนเองให้เป็นคนช่างสังเกต คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใฝ่หาความรู้ คิดอย่างสร้างสรรค์ ตั้งใจจริง อดทน มองมุมกว้างพร้อมเปิดใจรับสิ่งใหม่ เข้าใจนวัตกรรมและต้องทำให้สังคมยอมรับ มีเป้าหมายใหญ่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ และเมื่อได้นวัตกรรมใหม่ซึ่งเกิดจากการวิจัยแล้วจะต้องเผยแพร่และถ่ายทอดสู่สังคมเพื่อขยายผลสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป
     ซึ่งในขณะนี้งานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่คือ การหาแนวทางในการเพิ่มมูลค่าข้าวไทย รวมถึงการศึกษาแนวโน้มการตลาดเพื่อการส่งออก , การพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวในรูปแบบสำเร็จรูปพร้อมบริโภค , การสร้างเอกลักษณ์ให้กับ “ข้าว” ผลักดันให้ข้าวเป็นส่วนผสมหลักของอาหารไทย และเป็นส่วนสำคัญของโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก

[Back]