นักวิจัย มก. คิดค้นเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยขนาดเล็กและราคาถูก
นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คิดค้นเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย สามารถกลั่นน้ำมันจากตะไคร้และเปลือกมะนาวได้ ซึ่งได้ปริมาณน้ำมันมากขึ้น เครื่องมีขนาดเล็กขนย้ายสะดวก ทนทาน และราคาถูก เหมาะกับ อุตสาหกรรมขนาดเล็กและครัวเรือน เชื่อมั่นว่าสามารถตอบสนองธุรกิจสปาในประเทศไทยที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งยังลดการนำเข้าน้ำมันหอมระเหยจากต่างประเทศอีกด้วย

สืบเนื่องมาจากปี 2542 ที่เกษตรกรประสบปัญหามะนาวล้นตลาด รัฐบาลจึงเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและหาทางเพิ่มมูลค่าของมะนาว สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. จึงระดมความคิดเห็นจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ โดยอาจารย์สุรัตน์วดี จิวะจินดา ได้เสนอขอทำโครงการวิจัยเรื่องการผลิตน้ำมันหอมระเหยจากมะนาวไทยเพื่อการส่งออก เนื่องจากเคยทำโครงการวิจัยเรื่องน้ำมันตะไคร้หอมมาก่อนหน้านี้และได้ออกแบบเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยแนะนำให้เกษตรกรใช้กลั่นน้ำมันตะไคร้หอมสำหรับไล่แมลง ซึ่งในงานวิจัยครั้งนั้นพบว่าเครื่องกลั่นที่เคยออกแบบให้เกษตรกรกลั่นน้ำมันตะไคร้และตะไคร้หอมไม่สามารถกลั่นน้ำมันจากเปลือกมะนาวให้ได้ผลเป็นที่พอใจ จึงคิดออกแบบเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยนี้ขึ้นโดยได้รับเงินอุดหนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โดยในขั้นตอนการวิจัย ได้ทดลองกลั่นโดยเครืองกลั่นแบบต่างๆที่มีอยู่ กับเครื่องที่ออกแบบขึ้นใหม่ที่เพิ่มเติมส่วนในการควบคุมการไหลของไอเพื่อเพิ่มความดันในถังกลั่น ใช้เวลาในการทำวิจัย รวมทั้งการเก็บข้อมูลในการกลั่นประมาณ 3 ปี และประสบความสำเร็จให้ผลที่น่าพอใจโดยให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันประมาณ 2% จากที่เคยกลั่นได้น้อยกว่า 1% จากเครื่องกลั่นเดิม และเห็นว่าเครื่องกลั่นในรูปแบบนี้ยังไม่มีในท้องตลาด จึงได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว พร้อมทั้งได้ทำการผลิตออกจำหน่ายแก่ผู้สนใจแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งจากผลงานนี้ ส่งผลให้เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2546 ของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยนี้ ออกแบบขึ้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมขนาดเล็ก เนื่องจากเครื่องกลั่นในระบบอุตสาหกรรม ทั่วไปมักจะมีขนาดใหญ่ ยากต่อการขนย้ายหรือขนย้าย และมีราคาแพง ส่วนชุดเครื่องกลั่นที่ใช้ในห้องปฏิบัติการมักจะมีส่วนประกอบที่เป็นแก้วซึ่งชำรุดเสียหายได้ ไม่เหมาะกับการใช้งานในลักษณะของอุตสาหกรรมในครัวเรือนหรือในกลุ่มเกษตรกร

สำหรับคุณสมบัติพิเศษของเครื่องกลั่นที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ จะใช้กลั่นเพื่อสกัดแยกเอาน้ำมันชนิดน้ำมันหอมระเหย ไม่ใช่น้ำมันพืชทั่วไป จากส่วนที่มีน้ำมีนหอมระเหยสะสมอยู่ของพืช เช่น ราก ใบ ดอก หรือเนื้อไม้ ออกแบบเป็นถังกลั่นชนิดเบ็ดเสร็จถังเดียวขนาดเล็กโดยใช้ระบบการกลั่นด้วยน้ำ ระบบควบคุมอุณหภูมิและความดัน โดยมีส่วนที่ทำการควบแน่นแยกต่างหาก สามารถประกอบหรือถอดชิ้นส่วนออกได้ง่ายและขนย้ายสะดวก ทำจากเหล็กปลอดปลอดสนิมที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร สามารถทนแรงดันจากภายในได้ไม่ต่ำกว่า 3 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร มีส่วนประกอบทั้งหมด 5 ส่วน ได้แก่ ถังกลั่น ฝาของถังกลั่น ท่อนำไอน้ำ ตัวควบแน่น และถังรองรับน้ำมันและแยกน้ำมัน

วิธีการทำงานคือ เมื่อใส่น้ำ ชิ้นส่วนของพืช และติดตั้งส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และเปิดให้เครื่องทำงานแล้ว ตัวทำความร้อนจะทำงานจนทำให้น้ำเดือด ไอน้ำจะลอยผ่านชั้นที่บรรจุพืชขึ้นมา ความร้อนจากไอน้ำจะระเหยน้ำมันหอมระเหยที่มีอยู่ในพืชให้กลายเป็นไอปนออกมารวมกับไอน้ำ ผ่านทางช่องระบายไอน้ำด้านบนของฝาถัง โดยสามารถควบคุมความเร็วในการไหลของไอน้ำและความดันภายในถัง โดยการปิดเปิดวาวล์ที่ครอบอยู่บนช่องระบายไอน้ำ ไอน้ำและน้ำมันจะไหลผ่านท่อนำไอน้ำเข้าสู่ตัวควบแน่นแล้วกลั่นตัวเป็นของเหลวงลงสู่ภาชนะเก็บและแยกน้ำมัน ซึ่งจะแยกเอาน้ำมันออกจากน้ำได้หรืออาจนำไปแยกด้วยกรวยแยกก็ได้ ซึ่งจะทำให้ได้น้ำมันหอมระเหยที่ต้องการในที่สุด

หลังจากประสบความสำเร็จ ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ไปให้แก่ประชาชน โดยจัดอบรมเรื่องการกลั่นน้ำมันหอมระเหยไปแล้วหลายรุ่น ประมาณ 300 – 400 คน และขณะนี้ก็มีเอกชนรายย่อยหลายรายและโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยบางแห่งสั่งไปใช้บ้างแล้ว เช่น บริษัท ภูต้นน้ำ บริษัทนิธิกรฟาร์มแอนด์เอสเซนเชียลออยล์ โรงพยาบาลสุวรรณภูมิจังหวัดร้อยเอ็ด และเอกชนที่ไม่อยู่ในรูปบริษัทอีก 4 ราย

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สุรัตน์วดีบอกว่า การวิจัยนี้ยังขาดผู้ช่วยทำงานวิจัยที่คิดไว้หลายเรื่อง อีกทั้งเงินทุนวิจัยที่ได้รับค่อนข้างจำกัดทำให้พัฒนางานได้ค่อนข้างช้า แต่ยังมีความคิดดี ๆ และน่าสนใจอีกหลายเรื่องที่น่าจะทำต่อ และในอนาคต อาจพัฒนาออกไปได้อีกเป็นเครื่องกลั่นอเนกประสงค์ เพื่อใช้ประโยชน์ในงานวิจัยทางด้านสมุนไพรต่อไป

อาจารย์สุรัตน์วดี กล่าวด้วยว่า บ้านเรามีดอกไม้หอมกลิ่นไทย ๆ หลายชนิดที่เป็นเอกลักษณ์แบบตะวันออกที่สามารถสกัดกลิ่นหอมมาขายเป็นสินค้าประเภทเครื่องหอมได้ ถ้าจะมีคู่แข่งก็น่าจะมีไม่มาก อยากทำเรื่องนี้แต่คงต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูงในการทำวิจัย รวมไปถึงเรื่องการทำการตลาดซึ่งไม่ถนัด หากต้องการนำสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดต้องมีคนที่มีความสามารถในหลาย ๆ แขนงมาช่วยกันคิด

“อยากขอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของงานวิจัยให้มากขึ้น โดยเฉพาะงานวิจัยที่จะมีผลทำให้ประเทศไทยไม่ต้องซื้อ Know how จากต่างประเทศ แต่เป็นการสร้าง Know how เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ อีกประการหนึ่งคือในปัจจุบันกิจการสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวของไทยเช่น สปา ที่มีข่าวเสมอว่านำรายได้เข้าประเทศปีละมาก ๆ นั้น ส่วนใหญ่มักจะนำเข้าน้ำมันหอมระเหยจากต่างประเทศมาใช้และนำมาเป็นจุดขาย มีน้ำมันหอมระเหยของไทยที่ดีๆ หลายชนิด สปาของไทยก็น่าจะลองใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นไทย ๆ บ้าง และควรแนะนำให้ชาวต่างชาติลองใช้ อาจเป็นการเปิดตลาดสินค้าส่งออกชนิดใหม่ๆได้ และทำให้เกิดพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ นอกจากพืชชนิดเดิม ๆ อย่างข้าวหรือข้าวโพดที่มีคู่แข่งในตลาดโลกมาก” อาจารย์สุรัตน์วดี กล่าว
เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย เป็นโครงการพัฒนาวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจำหน่ายเป็นถังขนาด ต่าง ๆ สำหรับถังความจุ 30 ลิตร ราคา 80,000 บาท ถังความจุ 50 ลิตร ราคา 100,000 บาท และถังความจุ 100 ลิตร ราคา 150,000 บาท (ยังไม่รวมภาษี) รายได้จากการจำหน่ายนำไปพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยต่อไป ผู้สนใจสามารถติดต่อได้โดยตรงที่ อาจารย์สุรัตน์วดี จิวะจินดา โทรศัพท์ 0-3435-1399, 0-3428-1092 หรือ e-mail : rdiswj@nontri.ku.ac.th
จัดทำโดย : ประชาสัมพันธ์ มก.
lBackl