ม.เกษตร - กทม. ร่วมพลิกฟื้นคืนป่าชายเลนบางขุนเทียน
ชายทะเลแห่งเดียวของกรุงเทพฯ
ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ

 

     เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าป่าชายเลนเป็นทรัพยากรชายฝั่งที่มีคุณค่ามหาศาล มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของประชากร ทั้งทางตรง และทางอ้อม เป็นที่มาของปัจจัยสี่ของมนุษย์ เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด เมื่อปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทย มีเนื้อที่ป่าชายเลนประมาณ 2.3 ล้านไร่ แต่ข้อมูลของกรมป่าไม้ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2543 มีเนื้อที่ป่าชายเลนเหลืออยู่เพียง 1.5 ล้านไร่เท่านั้น เมื่อป่าชายเลนสูญหายไป ระบบนิเวศและชีวิตความเป็นอยู่ของคนชายฝั่งก็เปลี่ยนไปด้วย
     ในส่วนของป่าชายเลนบางขุนเทียนนั้น เดิมในปี พ.ศ. 2530 มีเนื้อที่ประมาณ 2,735 ไร่ แต่ต่อมาถูกบุกรุกแผ้วถางทำนากุ้ง และถูกน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยปีละ 7 – 12 เมตร แต่บางช่วงอาจจะรุนแรงถึง 33 เมตร ต่อปี ทำให้แนวเสาไฟฟ้าและหลักเขต กทม. ปรากฏอยู่กลางทะเลในขณะนี้ และเนื้อที่ป่าชายเลนก็เหลืออยู่น้อยเต็มที ด้วยตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญของป่าชายเลนบางขุนเทียนของ กทม. ซึ่งเป็นผืนสุดท้าย จึงได้ทำการศึกษาหาแนวทางฟื้นฟูป่าชายเลนและการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้กลับฟื้นคืนมา
     จากการเปิดเผยของ ดร.ดำรง ศรีพระราม รองคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ การปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนปรับปรุงภูมิทัศน์ชายทะเลบางขุนเทียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และนายพงศ์ศักดิ์ พันธุ์สวาสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า ทางคณะวนศาสตร์ มก. ได้นำนิสิตชั้นปีที่ 1 นักเรียน และประชาชนในชุมชนท้องถิ่นชายทะเลบางขุนเทียน จำนวน 500 คน เข้าฟังการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลน” ณ โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ และบริเวณป่าชายเลนบางขุนเทียน เพื่อได้นิสิต นักเรียนและประชาชนได้เข้าใจถึงความสำคัญของการปลูกป่าชายเลน วิธีการปลูกและประโยชน์ที่ลูกหลานจะได้รับในภายภาคหน้า จากนั้นจึงไปร่วมกันปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนในวโรกาส 12 พรรษามหาราชินี
     โครงการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนปรับปรุงภูมิทัศน์ชายทะเลบางขุนเทียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นงานให้บริการทางวิชาการ แก่สังคมของ มก. ซึ่งสำนักงานสวนสาธารณะ กรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มก. เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกและปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนและพันธุ์ไม้ป่าบกที่ทนต่อดินเค็ม และเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมและการปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณชายทะเลบางขุนเทียน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของคนเมืองหลวงและชุมชนใกล้เคียง และเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศของ สังคมพืชป่าชายเลนที่สูญไปให้กลับคืนมา ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง
     ระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 ถึงเดือนกันยายน 2549 บนพื้นที่สาธารณประโยชน์ 3 แห่ง คือ พื้นที่สองข้างถนนจากคลองเชิงตาแพ ถึงถนนเลียบคลองพิทยาลงกรณ์ ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร พื้นที่เลียบคลองพิทยาลงกรณ์ จากโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ถึงวัดธรรมคุณาราม ระยะทาง 2.9 กิโลเมตร และพื้นที่สองข้างทางจักรยาน จากคลองพิทยาลงกรณ์ถึงคลองโล่ง ระยะทาง 2 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 8.5 กิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 170 ไร่ โดยในบริเวณที่เป็นพื้นน้ำหรือบริเวณที่มีน้ำทะเลท่วมถึงจะปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่โตเร็ว อาทิ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก แสมทะเล พังกาหัวสุมดอกแดง ฯลฯ ส่วนบริเวณไหล่ทางจะเลือกใช้พันธุ์ไม้ป่าบกที่ทนดินเค็ม อาทิ มะขามเทศ นนทรี ขี้เหล็ก ตีนเป็ดทะเล กระถินเทพา ฯลฯ โดยต้องใช้กล้าไม้ป่าชายเลนและกล้าไม้ป่าบกทนดินเค็ม รวมทั้งสิ้น 130,000 กล้า
     การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลน” ประกอบด้วย นักเรียนจากโรงเรียนในบริเวณบางขุนเทียน คือ โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ โรงเรียนพิทยาลงกรณ์พิทยาคม โรงเรียนทวีธาภิเศก 2 โรงเรียนวัดประชาบำรุง โรงเรียนวัดแสมดำ และตัวแทนของชุมชนต่าง ๆ เช่น ชุมชนศรีกุมาร และชุมชนเสาธง นอกจากนี้ยังมีนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ เช่น โรงเรียนดอนบอสโก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ของกรุงเทพ เข้าร่วมฝึกอบรมฯ ซึ่งการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้นอกจากผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้ฟังคำบรรยายเกี่ยวกับการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลนแล้ว ยังได้ฝึกปฏิบัติในการปลูกป่าชายเลน โดยจะร่วมมือร่วมแรงและร่วมใจปลูกป่าชายเลนบางขุนเทียน เพื่อน้อมเกล้าถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาส 12 สิงหามหาราชินี
     นอกจากการปลูกและบำรุงรักษาพันธุ์ไม้ที่ปลูกดังกล่าวแล้ว โครงการฯ ยังได้จัดพิมพ์เอกสารเผยเเพร่ และจัดหลักสูตรดำเนินการฝึกอบรม เพื่อให้ความรู้แก่ชุมชนท้องถิ่น โดยยึดนักเรียนในพื้นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งมีหลักสูตรการฝึกอบรมทั้งสิ้น 5 หลักสูตร และได้จัดการฝึกอบรมไปแล้ว 4 หลักสูตรได้แก่
1.เทคนิคการผลิตกล้าไม้ป่าชายเลน
2.การจัดการป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
3.การมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการป่าชายเลน
4.ความสำคัญเเละนิเวศวิทยาของป่าชายเลน

     ที่ผ่านมา มก. และ กทม. ได้มีโครงการร่วมกันพัฒนาพื้นที่สีเขียวใน กทม. ได้แก่
1.โครงการประกวดต้นไม้ใหญ่ใน กทม. ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชิงโล่พระราชทานของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อรณรงค์ให้ช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ไว้ใน กทม.
2.โครงการสำรวจไม้ต้นริมถนนสายหลักและสายรองใน กทม. เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการปลูกต้นไม้ให้ร่ม ในแนวเส้นทางสัญจรหลัก
3.โครงการปลูกต้นไม้เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ในเส้นทางวิภาวดีรังสิต จากดินแดงถึงดอนเมือง
4.โครงการจัดทำแผนแม่บทพื้นที่สีเขียวของ กทม. เพื่อใช้เป็นแผนหลักในการพัฒนาพื้นที่สีเขียว และจัดสร้างสวนสาธารณะเพิ่มเติม ให้ได้สัดส่วนที่พอเหมาะพอควรกับจำนวนประชากร
5.โครงการจัดทำข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS ต้นไม้ในสวนสาธารณะและเขตเมืองชั้นใน เพื่อจะได้นำเอาฐานข้อมูลที่ได้ มาใช้ในการจัดการต้นไม้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
6.โครงการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนปรับปรุงภูมิทัศน์ชายทะเลบางขุนเทียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

สามารถชมภาพได้จาก http://pr.ku.ac.th ภาพกิจกรรมเดือนสิงหาคม 2548 ปลูกป่าชายทะเลบางขุนเทียน

 
[Back]