มก. แนะยุทธศาสตร์พัฒนาการเรียนรู้ไอซีที ต้องสอนเด็กคิดนอกกรอบ

 

     อาจารย์ มก.แนะวิธีการพัฒนา e-Learning ให้ประสบผลสำเร็จ ไม่ควรเน้นเฉพาะการเรียนผ่านไอทีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผสมผสานทั้งปฏิบัติจริง เวิร์คช็อป ที่สำคัญต้องมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง สอนให้ผู้เรียนคิดนอกกรอบ กระหายเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
     รศ.ยืน ภู่วรรณ รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บรรยายเรื่อง “ICT กับการเรียนการสอนที่เป็น Creative Thinking” ในการสัมมนา “ไอซีที เพื่อการศึกษาไทย ครั้งที่ 3” โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดขึ้นที่อาคารสารนิเทศ 50 ปี เมื่อวันที่ 23-24 มิถุนายน ที่ผ่านมาได้กล่าวว่า Creative คือมีความสามารถในการจินตนาการ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งใหม่ได้ง่าย มีความยืดหยุ่นที่จะปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น แต่สิ่งที่ขัดขวาง Creative ในระบบการศึกษาของไทย คือ ครูชอบยัดเยียด “คำตอบที่ถูกต้อง” ให้ ไม่ยอมรับความคิดนอกกรอบ หรือความคิดที่ผิดปกติ ไม่มีเวลาให้สำหรับคำถาม ไม่มีเวลาให้สำหรับการทดลองและการเล่น เรียนรู้ผ่านวิธีการเดิม ๆ แบบเดิม ๆ รวมไปถึง การสอนแบบส่งต่อ ๆ กัน โดยไม่ให้เด็กคิด
     จุดประสงค์ของการเรียนการสอนด้านไอที ก็เพื่อสร้างความคิดริเริ่ม สร้างเหตุผล สร้างความเป็นระบบระเบียบ สร้างจินตนาการ ให้รู้จักกับการแก้ปัญหาอย่างมีขั้นตอน รวมถึงสร้างนวัตกรรม วิธีการที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ด้วยไอทีนั้น จะต้องเป็นการเรียนการสอน แบบระดมสมอง การสร้างกลุ่มและการทำงานร่วมกัน ทำงานอย่างอิสระ คิดอย่างอิสระ เรียนรู้และสร้างประสบการณ์จากตัวอย่าง การคิดแก้ปัญหาโดยมีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ ใช้คำถามให้เกิดความคิดที่หลากหลาย ตั้งโจทย์และให้แก้ปัญหา และวิจารณ์ผลที่ได้
     ขณะเดียวกัน การใช้ ICT ในโรงเรียนให้ประสบผลสำเร็จ ต้องขึ้นกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ได้แก่ การใช้ ICT เพื่อเชื่อมโยงระหว่างกันและเข้าถึงเนื้อหาง่าย/เร็ว ใช้ ICT เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนการสอน โดยใช้ซอฟต์แวร์เป็นเครื่องมือ และเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว เพื่อเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ไม่จำกัดเวลา สถานที่ และบุคคล ใช้รูปแบบเนื้อหาและความรู้ เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน โดยใช้ระบบฐานข้อมูลและความรู้ การสร้างมาตรฐานกลาง เช่น ห้องสมุดดิจิตอล รวมไปถึงการเชื่อมโยงข้อมูลและระบบฐานความรู้ โดยใช้มาตรฐานทั้งในระดับสากลและระดับข้ามระหว่างโรงเรียน
     “กล่าวโดยสรุป การสร้างวิธีการเรียนรู้ จะต้องเน้นการปรับตัวให้ทัน เน้นสร้างคน ตอบสนองต่อความต้องการ เรียนรู้เร็ว สร้างคนได้มาก เน้นการสริมทักษะ และการเรียนรู้ได้ตลอดไป ให้คิดเป็น ทำเป็น” รศ.ยืนกล่าว และย้ำว่าสถานศึกษาจะต้องสร้างนักเรียนรุ่นใหม่ที่กระหายการเรียนรู้ แสวงหาปัญหา สนุกกับเรื่องท้าทาย มองและคิดนอกกรอบได้ มองวิกฤติเป็นโอกาส มองปัญหาเป็นเรื่องน่าสนใจ ไม่ท้อถอย หรือยกเลิก และต้องสนุกกับการใช้จินตนาการ
     ด้าน รศ.สุรศักดิ์ สงวนพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มก. ได้กล่าวถึงการ “พัฒนา e-learning ในองค์กรอย่างไรให้ประสบผล” คำว่า e-Learning หมายถึงการศึกษาเรียนรู้ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต หรืออินทราเน็ต เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนจะได้เรียนตามความสามารถและความสนใจของตน เนื้อหาของบทเรียนประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ เสียงวิดิโอ และมัลติมีเดียอื่นๆ จะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่าน Web Browser ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได ้เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ โดยอาศัยเครื่องมือคือ e-mail, web-board, chat หรือโดยรวมก็คือ e-learning คือกระบวนการเรียนรู้และการสอนอย่างมีประสิทธิผล โดยใช้เนื้อหาดิจิตอลประสานประชาคมผู้เรียน และการสนับสนุนจากผู้สอน อย่างมีส่วนร่วมระหว่างกัน
     “e-learning จะเปลี่ยนแปลงบทบาทนักเรียน นักศึกษา เป็นผู้เรียนที่มีวัยวุฒิ เปลี่ยนจากนักเรียนเป็นผู้ใช้บริการ และเปลี่ยนบทบาทจาก ครู อาจารย์ เป็นผู้ช่วยเหลือ และที่ปรึกษา (mentor)” รศ.สุรศักดิ์ กล่าว
     อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่พบคือ หากผู้สอนไม่ได้มีส่วนสนับสนุนแล้ว ผู้เรียนมักจะเรียนได้ไม่ตลอดหลักสูตร ทำให้เกิดสภาพ “งดเรียน” แบบเดียวกับการเรียนปกติ ขณะที่หลักสูตรเรียนเองแบบออนไลน์ส่วนใหญ่ ไม่สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้เรียนได้ ดังนั้นทางออกของปัญหานี้คือการจัดการเรียนแบบผสมผสาน หรือ Blended learning หมายถึงการนำข้อดีของแต่ละรูปแบบมาใช้แก้ปัญหา ทั้งเรียนในชั้นเรียน e-learning และปฏิบัติการจริง เช่น ในห้องแล็บ เวิร์คชอป เป็นการใช้จุดเด่นของแต่ละแบบ เข้ามาเสริมจุดด้อยของแบบอื่น
     ทั้งนี้ ในการปฏิบัติจริงจะต้องกำหนดความต้องการขององค์กร ผู้บริหารต้องเข้าใจและสนับสนุน ต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ สร้างทีมงาน เลือกเทคโนโลยี เตรียมพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน สร้างความพร้อมให้ผู้เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบและใช้งาน รวมถึงต้องมีการประเมินผล พัฒนา และปรับปรุง จึงจะเกิดผลสำเร็จได้
     “e-learning ในองค์กรจะพัฒนาดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการสนับสนุนและร่วมมืออย่างต่อเนื่อง อาจต้องลองผิดลองถูกจนได้แนวทาง และวิธีเฉพาะองค์กร ที่สำคัญคือ ต้องระลึกอยู่เสมอว่า e-learning ไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ” รศ.สุรศักดิ์ กล่าวในที่สุด

 
[Back]