มก. มอบเรือ 10 ลำให้ชุมชนทับเหนือ ระนอง
ใช้ประกอบอาชีพประมงของผู้ประสบภัยสึนามิ

     เหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์ “สึนามิ” พัดถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันของไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งกับชีวิตและทรัพย์สินที่ไม่อาจประเมินค่าได้ แม้เหตุการณ์จะผ่านมาเนิ่นนาน จนถึงขณะนี้กว่า 150 วันแล้วก็ตาม แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นบาดแผลฝังลึกในใจของผู้ประสบเหตุจนยากจะลืมเลือนได้...
     สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง ตำบลกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง หน่วยงานหนึ่งในสังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนา แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็เป็นอีกแห่งที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิไม่น้อยไปกว่าที่อื่นๆ แต่หลังเกิดเหตุทั้งในส่วนของสถานีวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประชาชนที่อยู่ร่วมกันในชุมชนใกล้เคียง ได้ระดมสรรพกำลังจากฝ่ายต่างๆ เข้าให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูในทันที ทั้งด้านกายภาพ ความเป็นอยู่และด้านจิตใจ
     “...นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัยในด้านชีวิตความเป็นอยู่แล้ว ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังได้จัดตั้ง ‘คณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาสถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง’ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางแผนการฟื้นฟู และจัดทำโครงการด้านวิชาการระยะเร่งด่วน และระยะปานกลาง เพื่อรักษากิจกรรมของหน่วยงาน และสนับสนุนให้ชุมชนแวดล้อมได้มีอาชีพทำอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เดือดร้อน…” รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าว
     มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของราษฎรในชุมชนทับเหนือ ตำบลกำพวน ซึ่งอยู่ละแวกเดียวกับที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง และประสบภัยจากคลื่นยักษ์ยังผลให้ต้องสูญเสียอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพทางการประมง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากความเสียหายดังกล่าว จึงได้จัดสรรเงินและรวบรวมเงินบริจาคในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ โดยจัดตั้งเป็น “โครงการกองทุนเรือเพื่อชุมชนทับเหนือ ตำบลกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง” ขึ้น เพื่อให้ราษฎรผู้ประสบภัยได้มีเครื่องมือประกอบอาชีพการประมง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
     และเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ได้ร่วมประกอบพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียชีวิตเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 วัน เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย ณ สถานีทรัพยากรชายฝั่งระนอง พร้อมทั้งส่งมอบเรือหางยาว ขนาดความยาว 9.5 เมตร กว้าง 1.8 เมตร พร้อมเครื่องยนต์ จำนวน 10 ลำ ใน โครงการกองทุนเรือเพื่อชุมชนทับเหนือ ตำบลกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ให้แก่ชาวชุมชนไว้ใช้งาน พร้อมด้วยเครื่องอุปโภคและบริโภค
     “สำหรับการดูแลเรือประมงทางปลัดอำเภอ นายบรรจง ช่วยชู เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอสุขสำราญ จะต้องคอยสอดส่องดูแลการใช้เรือของราษฎรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ คือใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพการประมงเท่านั้น และราษฎรที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเรือดังกล่าว จะต้องดูแลและบำรุงรักษาเรือซึ่งอยู่ในความครอบครองหรือใช้ประโยชน์ เสมอด้วยวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และเมื่อเลิกใช้ประโยชน์ในเรือดังกล่าวแล้วราษฎรจะต้องส่งเรือคืนให้กับคณะกรรมการฯ ที่ชุมชนแต่งตั้ง” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าว
     และในอนาคตเตรียมจัดตั้ง ‘ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน’ ขึ้นเป็นหน่วยงานระดับคณะ เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการงานวิจัย งานการเรียนการสอนและงานบริการวิชาการ เป็นการขยายขอบเขตความรับผิดชอบกิจกรรมให้ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งถือเป็นภารกิจระยะยาว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอันดามันเกิดความยั่งยืน เพิ่มพูนความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนมีความเข้มแข็ง ก่อให้เกิดความมั่นคงความปลอดภัยในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมชายฝั่งอันดามันต่อไป.

 
[Back]