หลากหลายมุมมอง … … สร้างนวัตกรรมอาหารเพื่อนำไทยสู่ครัวโลก

4
      จากเวทีการสัมมนาเรื่อง “นวัตกรรมอาหารเพื่อนำไทยสู่ครัวโลก” ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2548 ในโอกาสจัดตั้งศูนย์ศูนย์วิจัยนวัตกรรมอาหารและบริการที่ปรึกษา KU-FIRST (เค ยู เฟิร์ส) ต้นแบบศูนย์ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มุ่งเน้นการวิจัย การให้บริการด้านนวัตกรรม และการสร้างองค์ความรู้ให้กับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ รวมทั้งการให้คำปรึกษาทางวิชาการ และเป็นฝ่ายป้อนเทคนิค (technical arm) ให้กับภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารในตลาดโลกอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ มุ่งเน้นเรื่องอาหารปลอดภัยให้ไทยเป็นครัวของโลก ซึ่งมีข้อสรุปว่าประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรฐานการผลิตอาหารแบบครบวงจรโดยอาศัยงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นพื้นฐาน
     รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้กล่าวถึงนโยบาย และทิศทางวิจัยด้านอาหารเพื่อการพัฒนาประเทศ ว่า ผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์ส่งผลให้เกิดยุคเศรษฐกิจโมเลกุล คือการให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของอาหารที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งจะต้องนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารอย่างรอบคอบ และสามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องสร้างองค์ความรู้ สามารถนำงานวิจัยมาใช้พัฒนากระบวนการผลิตอาหาร สร้างความเชื่อมั่นในระบบการผลิต มีระบบการจัดการความเสี่ยงรองรับ ซึ่งจุดอ่อนของไทยขณะนี้อยู่ที่พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเชื่อว่าศูนย์ เค ยู เฟิร์ส นี้ จะเป็นฐานความรู้ให้กับประเทศได้เพราะเป็นส่วนที่ได้รับความร่วมมือทางด้านวิชาการจากเครือข่ายมากมายทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้น สิ่งที่จะต้องเร่งทำต่อไปก็คือการกระจายความรู้สู่สังคมและชุมชนให้เร็วที่สุด
     ด้าน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า นโยบายการค้าเสรีของ WTO ส่งผลต่อระบบในเรื่องเทคโนโลยีการผลิต และการแข่งขันทางการตลาด ซึ่งไทยจะต้องเร่งสร้างกลไกในการต่อสู้ในตลาดโลก ด้วยการสนับสนุนและจัดสรรงบงานวิจัยให้มากว่าเดิม และต้องมีระบบการจัดการด้านเทคโนโลยีที่ดี เพื่อสร้าง Knowledge Base Economy นำเทคโนโลยีมาใช้ตั้งแต่ระดับผู้บริโภค ผู้ผลิต รวมถึงคุณภาพสินค้า ขยายสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อให้ก้าวทันเวทีการค้าโลก และสิ่งหนึ่งที่จะทำให้อาหารไทยเข้าไปอยู่ในใจคนทั่วโลกได้ก็คือ “มาตรฐานอาหารไทย”
     คุณยุทธศักดิ์ สุภสร รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ ว่า จะต้องร่วมมือกันตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ระดมความคิดสร้างความเข้มแข็งให้อาหารไทยเพื่อให้อาหารไทยเป็นอาหารระดับสากลให้ได้ภายในปี 2551 โดยมีเป้าหมายหลักคือส่งเสริมอาหารไทยให้ได้รับความนิยมอยู่ในอันดับที่ 2 ให้ได้ ในปัจจุบันนี้อาหารไทยได้รับความนิยมอยู่ในอันดับที่ 6 โดยอันดับที่ 1 คือ อาหารอิตตาเลียน อันดับที่ 2 อาหารฝรั่งเศส อันดับที่ 3 อาหารญี่ปุ่น อันดับ 4 อาหารจีน อันดับ 5 อาหารอินเดีย ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ต้องเริ่มจากการสร้างการรับรู้และองค์ความรู้เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ กระตุ้นธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเชื่อว่าศูนย์ KU-FIRST จะทำหน้าที่เป็นแกนนำในการนำองค์ความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถพัฒนาอาหารไทยไปสู่ระดับโลก เพราะภารกิจหลักของศูนย์ KU-FIRST ประกอบด้วย 1. บริการวิจัยและที่ปรึกษา ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาเครื่องจักรเพื่อการแปรรูป การจัดการเทคโนโลยีการผลิตอาหารระดับอุตสาหกรรม 2. งานนวัตกรรม ได้แก่ งานพัฒนาเครื่องจักรกลผลิตอาหาร 3. บริการวิเคราะห์และประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ การตรวจวิเคราะห์ทดสอบทางด้านกายภาพ เคมี จุลชีววิทยา การตรวจวิเคราะห์เพื่อขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร ฯลฯ และ 4. งานวิจัยและพัฒนา ซึ่งเน้นความชำนาญของกลุ่มวิจัยเฉพาะทางของหน่วยงานในศูนย์ KU-FIRST ได้แก่ ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ด้านข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว ด้านผลิตภัณฑ์ประมง ด้านวิศวกรรมอาหาร ด้านผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีบริการสารสนเทศทางอาหาร เพื่อการวิเคราะห์เทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม บริการทดสอบตลาดและทดสอบทางประสาทสัมผัสสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการอบรมบุคลากรด้านอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้มีร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้มากขึ้น พร้อมๆ กับสร้างแบรนด์มาตรฐานร้านอาหารไทย หรือ Thai select ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล รวมทั้งต้องมีการส่งเสริมกิจกรรมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ด้วย

     

     ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และ ผู้สนใจขอรับบริการจากศูนย์ KU-FIRST ได้ที่ ชั้น 1 อาคาร 3 คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โทร. 0-2579-0840 , 0-2942-8500-11 ต่อ 1360 หรือทางอีเมล์ contactkufirst@yahoo.com
[Back]